หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ
ปุจฉา-วิสัชนาธรรม กับหลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ
วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) จ.หนองคาย
จาก หนังสือประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
ปุจฉา: ในขณะที่พิจารณาลมอยู่นั้น เราก็เห็นว่าอันนี้มันเป็นลม เป็นธาตุขันธ์ ซึ่งมันก็ลงไตรลักษณ์ มันเทียบเป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แล้วก็พิจารณากายมันเป็นดิน ดินเป็นธาตุ มันไม่หนีธาตุ ๔ ไปได้ ค่อย ๆ พิจารณาไป แต่บางครั้งจิตก็อดแวะโน่นดูนี่นอกเรื่องไปไม่ได้พิจารณา
อย่างไรก็ไม่เข้าถึงฐีติจิตสักที จะทำอย่างไรคะ
วิสัชนา: เดี๋ยวก่อน รู้สึกจะสับสนกันแล้วเรื่อง ฐีติจิต ฟังก่อน จะอธิบายให้ฟัง... การปฏิบัติของแต่ละคนแต่ละท่านที่จะเข้าถึง ฐีติจิต คือจิตดั้งเดิมนั้น
เหมือนกันก็มี ไม่เหมือนกันก็มี เพราะเหตุใด... เพราะเป็นไปตามบุพพวาสนาของใครของมัน มันเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านเป็นได้ แต่พระสาวกองค์อื่น บางองค์ก็ไม่ลงถึงฐีติจิต ฐีติจิตนี้คือเป็นแต่ว่าจิตเข้าไปพักอยู่ พ้นวิปัสสนาไปแล้ว รู้เหตุรู้ปัจจัยไม่ได้ ทีนี้ถ้าเราต้องการค้นให้รู้ชัดเห็นจริงฝ่ายธาตุ ฝ่ายขันธ์ จะอยู่ขั้นฐีติจิตไม่ได้ ต้องอยู่แค่ระดับอุปจาระ... ฝ่ายเหตุ ฝ่ายปัจจัย ฝ่ายขันธ์ เห็นรูปธรรม นามธรรมเหมือนพระพุทธเจ้าที่อยู่ในขั้นอุปจาระ รู้ได้ก็เพราะอาศัยปัญญานี้ ให้บริสุทธิ์ มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพระสาวกบางองค์ท่านพิจารณาด้วยจิต ท่านลงถึงฐีติจิต ลงพักอยู่ แล้วถอนจากฐีติจิต ขึ้นมา ท่านถึงมาพิจารณาที่ผ่านไป สงบไป ในชั้นในภูมิของอุปจารสมาธิ พิจารณาไปเองเลย การรู้วิชาการต่างๆ ความรู้จริงเห็นจริงอยู่ในขั้นอุปจาระ แต่เราจะรู้ว่าฐีติจิตได้ ต้องรู้ถึงจิตดั้งเดิมในภูมิธรรมดา ทีนี้ยกตัวอย่าง อย่างพระอริยสาวกนั่งฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอยู่ สาวกเหล่านั้นตั้งจิตตั้งสติสงบพอดี ๆ อยู่ในอุปจาระ ท่านเทศน์อย่างไรก็รู้เรื่อง จิตของสาวกเหมือนน้ำไหลไปได้ เพราะละเอียดแล้ว ฐีติจิตนั้นละเอียดอยู่แล้ว การพิจารณาต้องอยู่ในขั้นอุปจาระพอดีๆ ด้วยความมีสติปัญญา กำหนดฟังพระธรรม เทสนาจึงจะเข้าใจได้ อย่างเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ เทศน์พร้อมถามพร้อม พระปัญจวัคคีย์ก็ตอบเห็นพร้อม ถ้าจิตลงถึงฐีติจิตแล้วก็อย่าเลย ไม่มีทางพิจารณาหรอก เพราะฉะนั้น ท่านพวกปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อเราภาวนาไปปฏิบัติไป ถ้าจิตของเราไม่ลงถึงฐีติจิต อย่าเพิ่งลงความเห็นว่าเราภาวนาไม่เป็น อย่างเพิ่งน้อยเนื้อต่ำใจ ถ้าเป็นผู้น้อยเนื้อต่ำใจก็เป็นผู้หลง หลงแล้ว น้อยเนื้อต่ำใจ ทำให้เกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านขาดไปจากอาสวกิเลสได้ ถึงอาสวักขยญาณในภูมิอุปจาระนี้ ถอนจากฐีติจิต ทุกอย่าง ท่านได้จากฌานนี้ รู้อยู่ในภูมิอุปจาระนี้ รู้ตัวเหตุ ตัวปัจจัยก็รู้อยู่นี่ รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็รู้อยู่ในภูมินี้ นิมิตต่างๆ ก็รู้อยู่ในนี้ ทั้งความดี ความหลง ความรู้แจ้งอยู่ในขั้นนี้ ฉะนั้นท่านจึงให้ตั้งอิทธิบาท ๔ ไว้นี้มัน สำคัญต้องเข้าใจ ระหว่างพิจารณาไม่ได้อาศัย ฐีติจิตเลย ถ้าจิตลงถึงฐีติจิตพิจารณาไม่ได้ เราจะพิจารณาได้แต่ตอนอยู่ในขั้นอุปจาระเท่านั้น ซึ่งก็เป็นได้ เมื่อถอนจากฐีติจิตมาอยู่ อุปจาระ
ปุจฉา: การพิจารณาจะรู้อะไรอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องรู้เฉพาะตอนถอนออกจากฐีติจิตก่อน แล้วขึ้นมาอยู่อุปจาระ ถึงแม้จะยังไม่ถึงฐีติจิต แต่สงบอยู่เพียงขั้นอุปจาระ ก็รู้ได้เหมือนกันใช่ไหมค่ะ
วิสัชนา: ได้ อุปจาระนี้มี ๒ ตอน ๒ ระยะ ระยะหนึ่งก่อนจิตรวมลงถึงฐีติจิต อีกระยะหนึ่งรวมถึงฐีติจิตแล้วถอนขึ้นมา... มันเป็นขั้นสำคัญออกรู้เรื่องราวต่างๆ มากเรื่อง ความรู้วิชาต่างๆ ก็ได้มา ตอนนี้ แต่รู้แล้วหลงหรือไม่หลงนี่... มันสำคัญตรงนี้ ใครจะเข้ามาแบบไหน เราจับจุดอะไร อารมณ์ไหนก็ตาม โดยมากคนได้นิมิตก็มักเชื่อไปหมด วางใจ พิจารณาสวรรค์ เห็นนรกปรากฏเห็นในนิมิตรนรกก็พิจารณานรก มันเป็นยังงั้น ฟังสัจจธรรม กำลังพิจารณาทุกข์ ใจสลดสังเวช พระพุทธเจ้าท่านพิจารณาทุกข์ เรื่องทุกข์ในอดีต คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงเป็นเหตุให้พระหฤทัยในใจสลดว่าเหมือนพระองค์เห็นนรกที่ลุยนรกมาแล้วน้ำพระเนตรของพระองค์ไหลลงเลย สลดสงสารชาติของตนที่ท่องเที่ยวเกิด แก่ เจ็บ ตายในอดีตไม่มีที่สิ้นสุด แม้พระองค์มีญาณถึงขนาดนี้แล้ว ชวนให้เพลิดเพลิน หลงอย่างไร แต่ก็ไม่มีติดในญาณนี้แล้ว พระองค์ย้อนไปหาอะไรคือตัวเหตุตัวปัจจัย ให้เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเป็นอย่างคนที่มีสติปัญญาอ่อน ลองดูซิ ถ้าไปรู้ไปเห็นอย่างนั้น อาตมาว่าตั้งตัวเป็นหมอดูเลย แต่พวกเราสติปัญญามันพอไหว มันยังไม่ถึงฐานที่จะเห็น เพราะวาสนาใช่ไหมล่ะ พระองค์ท่านมีวาสนาครบหมด ส่วนสาวกนั้นไม่เหมือนพระองค์ท่าน บางองค์ระลึกชาติได้ก็มี บางองค์ระลึกชาติไม่ได้ก็มี แต่เรื่องการตัดอาสวักขยญาณนั้นทุกองค์เหมือนกันหมด หายจากข้อสงสัยมีอันเดียวเท่านั้น ทุกองค์ได้เหมือนกัน แต่เรื่องระลึกชาติไม่ใช่เรื่องพ้นทุกข์ งานของธรรมคืองานถอนวัฏฏะทำจุดเดียว กำหนดลงที่เดียว ดังนั้นถ้าเรากำหนดตรงไหน ถูกกับจริตนิสัยของเราก็รีบทำเสีย ให้เห็นชัดลงนี่แหละ ไม่เหมือนงานของโลก งานของโลก อย่างเช่นเราเขียนหนังสือ เราเขียนจดหมายมาหาคนนั้น แต่งอย่างนี้ เขียนถามไปตอบมา มันยุ่งกันไปหมด งานของโลกเป็นงานติดต่อต่อเนื่องกันเหมือนสายโซ่ ส่วนงานของธรรมไม่ใช่เช่นนั้น จับที่เดียวเท่านั้น สังขาร วัญญาณ นามรูป ภพชาติ ตรงไหนก็ได้ จุดเดียว ที่เดียว เจาะลงไปเลย ภูมิอุปจารสมาธิ คือภูมิของสมถวิปัสนา สมถะ คือตัว สติ วิปัสสนา คือตัว ปัญญา มันอันเดียวกันนี่แหละ เรียกชื่อต่างกัน สมมติ สติ เปรียบเหมือนไฟ แต่ปัญญาก็คือ แสงสว่างของไฟต่างหาก ถ้าไฟมีกำลังมากแสงสว่างก็มาก ถ้าสติมันดีปัญญามันก็ดี เราจะเรียกว่าแสงสว่างเป็นไฟก็ไม่ได้ เรียกไฟเป็นแสงสว่างก็ไม่ได้ ไฟต่างหากแสงสว่างต่างหาก แต่ก็อันเดียวกัน หยั่งลงทีเดียว รู้เรื่องกัน ไม่สงสัยเลย สมมติว่าเรากำลังพิจารณาหนัง หนังเป็นของสกปรกโสโครก เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันอื่นก็เหมือนกัน มันเป็นอย่างนี้เรื่องธรรมะ ข้อสำคัญพิจารณาให้แน่วแน่ก็แล้วกัน ให้เห็นชัด ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หาเหตุ หาปัจจัยของมันเท่านั้น มันก็รู้เรื่องกันขึ้น
ปุจฉา: ท่านอาจารย์ให้พิจารณากัมมัฏฐานอะไรที่ถูกกับจริตของเรา แต่พวกเราไม่รู้ว่าอะไรมันถูกกับจริตของเรา อย่างเราจะไปกราบเรียนครูบาอาจารย์ ได้ไหมว่าอะไรถูกจริตกับเรา ควร พิจารณาผม หรือขน หรือเล็บ หรือฟัน หรือหนัง หรือมรณานุสติ... หรืออะไรต่ออะไร
วิสัชนา: ถ้ายังไม่รู้ก็หมายความว่ายังเป็นผู้หลงอยู่ ยังหนาอยู่ สิ่งใดอะไรอยู่ในตัวเราเราต้องรู้ ความโลภอยู่ในตัวเรา เราต้องรู้ ความโกรธอยู่ในตัวเรา เราต้องรู้ ความหลงอยู่ในตัวเรา เราตูในร่างกายของเรา เรามีโรคอะไรอยู่ เราต้องรู้ เราเจ็บตรงไหน เราก็ต้องรู้ ใจของเราไม่ดีตรงไหนเราต้องรู้ สนทิฏฐิโก ต้องรู้เอง ปุจฉา: ถ้าเราพิจารณาแล้วจิตเราสงบได้เร็ว แปลว่า กัมมัฏฐานบทนั้นถูกกับจริตของเรา อย่างนี้ใช่ไหมคะ วิสัชนา: นั่นแหละ ให้มันสลดสังเวช ธรรมอันใดในกัมมัฏฐานอันใด เมื่อเราพิจารณาแล้วสติของเราไม่ฟั่นเฝือ ไม่ลุ่มหลง จิตของเราสงบ และการพิจารณาของเราก็แจ้งไปตามลำดับ ๆ นั่นเรียกว่าโรคถูกกับยา ให้เรากินยาขนานนั้นๆ อย่ายักย้ายเปลี่ยนใหม่ ถ้าเราพิจารณาอะไร ด้วยกัมมัฏฐานส่วนไหนแล้วอารมณ์ของเราไม่สงบ จิตของเราฟั่นเผือ แปลว่าไม่ถูกกับยา รักษาโรคนั้นไม่ได้ผล
ปุจฉา: ที่ท่านอาจารย์เคยสอนว่า ให้ศึกษาปฏิปทาพระพุทธเจ้าว่าท่านตรัสรู้อย่างไร แล้วให้ดำเนินตามปฏิปทาของท่านนั้น ใจเราก็รู้ว่าวิธีของท่านดีแน่ วิเศษแน่ แต่เรากลัวว่าบารมีเรายังไม่ เทียบท่าน เพราะว่าท่านพิจารณาคืนนั้น คืนเดียวท่านก็ได้ตรัสรู้เลยในคืนวันนั้น ส่วนบารมีของเรานั้นพิจารณาคืนนี้รุ่งขึ้นก็คงไม่รู้แน่ ดังนั้นเราก็เลยวางไว้ก่อน แม้เราพิจารณาสงบลงแล้ว ก็คิดว่าตัวสงบของเรา มันยังไม่ถึงฐีติจิตหรือจิตรวมใหญ่ เมื่อยังไม่ถึงอันนี้ถ้าเราไปพิจารณามันก็เหมือนกับธรรมะที่คาดคะเนเอา หรือความรู้ที่ยังไม่จริง เมื่อก่อนเข้าใจว่าอย่างนั้น แต่วันนี้แล้ว อุปจารสมาธิที่ท่านอาจารย์อธิบายนั้นมีปัญญาอยู่ในนั้นด้วยในตัวคือ เดิมไปเข้าใจว่าอุปจารสมาธิคือการที่จิตรวมแล้วนิ่ง แต่ว่ายังไม่ถึงฐีติจิต เมื่อไรที่ถึงฐีติจิตแล้วพอยกธรรมะจะต้อง เกิดปัจจัตตังเสียก่อน คือรู้เอง เห็นเอง ของใครของมัน แล้วแต่นิสัยของตน แต่ความจริงเราไม่ต้องรอจนจิตรวมจนถึงฐีติจิตก็พิจารณาได้
วิสัชนา: ใช่...จะต้องพูดเรื่องปัจจัตตังและฐีติจิตอีกครั้งหนึ่ง ปัจจัตตัง เป็นอย่างไร ฐีติจิต เป็นอย่างไร ปัจจัตตัง คือรู้เอง เห็นเอง ส่วนฐีติจิตคือจิตดั้งเดิม ท่านเปรียบว่า อัปปนาสมาธิ อัปปนาจิตและฐีติจิต ต่างอยู่ในฐานเดียวกันแต่มีชื่อต่างกัน อัปปนาสมาธิ เป็นจิตที่แน่วแน่ ลงไปจนถึงจิตเดิม อัปปนาจิตก็เหมือนกัน ฐีติจิตก็เหมือนกัน ฐีติจิตเป็นจิตที่ว่าง ไม่มีอารมณ์ เป็นจิตเดิม เป็นจิตที่ท่านเรียกว่า "ประภัสสร" แจ้งสว่าง จะอธิบายให้ฟัง ถ้าผู้เข้าไม่ถึง "ไม่เห็น" ผู้เข้าถึง "เห็น" ใครจะพูดอย่างไรก็ช่าง ไม่สนใจ เพราะรู้อยู่แล้วเป็นปัจจัตตังอัปปนาสมาธินี้ จิตนั้นไม่มีเศร้า ไม่มีหมอง ไม่มีมืด ไม่มีมัว เหมือนพระอาทิตย์ท่านส่องสว่างอยู่ แต่ที่พระอาทิตย์จะมืด จะมัวเศร้าหมองเพราะขี้เมฆเข้ามาบดบังพระอาทิตย์ ไม่ใช่พระอาทิตย์เลื่อนเข้าหาขี้เมฆ นี่ท่านเปรียบไว้นัยหนึ่ง ธรรมชาติของจิตมันเป็นของใสบริสุทธิ์ หากแต่มีกิเลสเข้ามาหมักหมมบดบังจึงได้ฝ้าฟางไป ถ้าใช้สติปัญญาชำระให้ดี ๆ แล้วมันก็จะลงสู่สภาพบริสุทธิ์ อีกนัยหนึ่งท่านเปรียบขี้เมฆนั่นแหละ เปรียบเหมือนอุปกิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้แก่ โลกธรรมที่ไหลเข้ามาทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เลยให้มัวเมา จิตก็เลยมืด แสงสว่างก็ถูกบดบัง อีกนัยหนึ่งท่านเปรียบเหมือนการเขียนเลข 1 2 3 4 5 6 7 8 9 0 ลบเลข 1 ถึง 9 ทิ้ง ยังเหลือแต่ 0 อยู่ 0 นี้ เลข 0 นี้เปรียบเหมือนตัวฐีติจิต คือจิตดั้งเดิม ซึ่งก็ไม่มีราคาค่างวดอะไร จะบวกลบคูณหารกับเลขอะไร ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าได้ แต่ว่า 0 นี้ จะว่าไม่มีค่าก็ไม่ได้ แต่ถ้าเอาไปต่อเพิ่มกับเลขจำนวนใดก็จะทำให้เลขจำนวนนั้นวิจิตร พิสดารไป เช่นเลข 1 เอาเลข 00000 ต่อเข้าเป็น 10 เป็น 100 เป็น 1,000 เป็น 10,000 เป็น 100,000 เป็น 1,000,000 ไป แม้เรื่องของจิตก็เช่นกัน เรื่องฐีติจิตนี้ถ้าขาดสติปัญญาแล้วถอนขึ้น มาไม่มีสติปัญญานะ เมื่อขาดสติปัญญาพลั้งเผลอถอนขึ้นมาปล่อยถอนขึ้นมาเฉย ๆ ประสบอารมณ์อะไรเป็นกิเลสไปเลย นี่มันจะหยุดไม่ได้ มันเผลอสติของเราไม่ดี ท่านว่าจิตเป็นของพิสดาร มากมาย แต่ว่าถ้าฐีติจิตตัวนี้ได้รับการอบรมด้วยสติปัญญาดีแน่ชัดแล้ว ก็ลงสู่สภาพเดิมอันใสบริสุทธิ์
ปุจฉา: ขอกราบเรียนถามเรื่องภวังคจิต ฌานจิต และสมาธิจิต
วิสัชนา: ท่านเปรียบไว้ ภวังคจิต ฌานจิต สมาธิจิต ภวังคจิต ไม่ใช่จิตดั้งเดิมนะ ภวังค์คือภพ มันตกอยู่ในตัวกัมมวัฏฏะ กิเลสวัฏฏะ คือรัก โลภ โกรธ หลง ราคะ โทสะ โมหะ จิตตกภวังค์แล้วจะไม่มีสติ ไม่มีปัญญา เราสังเกตได้ง่าย ภวังคจิตเข้าไปเฉยๆ ไม่มีสติปัญญาเลย มีแต่ภวังคจิต จะว่านอนหลับก็ไม่ใช่ เช่น คนนอนหลับจิตก็กองไว้ ไม่ใช่คนนอนหลับ ไม่ใช่จิตตกภวังค์ วางเหมือนกับนอนหลับ คนนอนหลับเป็นนิทราจิต นิทราจิต ธาตุก็นอน จิตก็นอน แต่ภวังคจิตธาตุไม่พักเข้าไปนอน แต่จิตที่เรียกว่าภวังคจิตมันเป็นอย่างนั้น ฌานจิตนี่อีกอย่างหนึ่ง ฌานจิตมีสติแต่ขาดตัวปัญญา วิปัสสนา นี่พูดให้เข้าใจง่ายๆ มันเป็นอย่างงั้น อย่างพวกที่เพ่งฌาน รูปฌาน ๔ สมัยก่อน พระพุทธเจ้าของเรายังมีรูปฌาน ๔ เพ่งดิน เพ่งน้ำ เพ่งลม เพ่งไฟ ด้วยความมีสติในจุดนั้น มุ่งหมายให้จิตสงบ ไม่มุ่งหมายให้ถอนกิเลส นี่เรื่องการเพ่งฌาน ๔ ไม่ว่าจะเพ่งดินก็ตาม เพ่งน้ำก็ตาม เพ่งไฟก็ตาม เพ่งด้วยความมีสติ ถ้าไม่มีสติจิตก็ไม่สงบ ไม่รู้ตัวเองเพ่ง แล้วจะไปสงบได้อย่างไร ต้องใช้สติ การเพ่งให้มีสติเป็นฌานนอกพระพุทธศาสนา พระองค์ไปเรียนมาแล้ว ในอรูปฌาน ๔ เพ่งอากาศ อากาสานัญจายตนะ มันออกไปแล้วไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยความมีสติ ถ้ามีสติกำกับจิต จิตก็สงบเพ่งวิญญานความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด วิญญาณัญจายตนะเพ่งความรู้ให้น้อมเข้ามา อากิจจัญญาตนะเพ่งความรู้ให้น้อมเข้ามา เพ่งให้ละเอียดลงไปอีกความรู้น่ะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ รู้ก็ไม่ใช่ ไม่รู้ก็ไม่ใช่ รวมทั้ง ๒ อัน รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ เป็นโลกียฌาน ไม่มีการถอนกิเลส ไม่มีการถอนสังโยชน์ ไม่มีเรื่องวิปัสสนา เพียงแต่ทำใจให้สงบ ข่มกิเลสไว้ชั่วคราว เมื่อเสื่อมจากการข่มหรือเสื่อมจากสติ กิเลสก็เกิดขึ้น แต่ฌานนี้ก็เป็นบทพื้นฐานของ วิปัสสนาได้เพราะตั้งอยู่ในความสงบ มีสติแล้วเป็นรากฐานไว้แล้ว ถ้าผู้สำนึกในอรูปฌาน ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน รู้ก็ไม่ใช่ ไม่รู้ก็ไม่ใช่ เป็นฌานที่ละเอียดค้นวิปัสสนาไม่ได้ แต่ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ ไม่ใช่ฐีติจิต ต้องถอนมาในอากิจจัญญายตนฌาน มีความรู้อยู่ จึงจะค้นวิปัสสนาได้ รู้แจ้งเห็นจริงได้
นี่เรื่องของฌานมีเท่านี้ สมาธิจิต ต้องอาศัยปัญญา เดินตามอริยมรรคปัญญา สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ จิตถึงจะถอนกิเลสเป็นพักๆ ไปตามสติปัญญา มันเป็นยังงั้นเพราะฉะนั้นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบคืออะไร คือเห็นว่านี่ทุกข์ นี่เหตุให้เกิดทุกข์ นี่ธรรมอันเป็นข้อดับทุกข์ นี่คือข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ เห็นชัดลงไปนี้ นี่ทุกข์คืออะไร คือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์คืออะไรคือตัวสมุทัยตัวตัณหา นี่ธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์คืออะไร คือการละตัณหา วางตัณหา ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ เป็นอย่างไร พากันเจริญให้มาก พิจารณาให้มาก บำรุงให้มาก คือตัวสติปัญญาเท่านั้นเอง ถ้าสนับสนุนตัวสติปัญญาให้มาก จิตก็พ้นไปนั่นเอง ปัญญาบริสุทธิ์ สติของตนจะบริสุทธิ์ ศีลของตนจะบริสุทธิ์ สติของตนจะบริสุทธิ์หลุดพ้นไปเพราะปัญญา มันเป็นอย่างงั้น เมื่อถอนออกจากรากนี้แล้ว ก็จะเป็น สัมมาสมาธิตามขั้น ถอนสังโยชน์ได้ เป็นอกาลิโก ไม่มีกาล เวลา ไม่มีการเข้าการออก ไม่มีเสื่อม ไม่เหมือนสมาธิกระรอกกระแต สมาธิในอริยมรรคไม่มีถอนกิเลสแล้ว ก็เป็นสมาธิตามขั้นของสติปัญญา ถ้าถอนหมดก็เป็นอกาลิโก ไม่มีกาลไม่มีเวลา ไม่มีเสื่อมไม่มีคลาย มีแต่เจิร เราจะไปค้นดูข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันที่เป็นที่ดับทุกข์ ท่านก้บอกว่าให้มีศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ศีลคือตัวสติ ปัญญาพิจารณารู้แจ้ง รู้รอบให้หมดเรื่องก็เท่านี้เอง
ปุจฉา: ดูเป็นเรื่องง่ายเหลือเกิน
วิสัชนา: ก็ง่ายซิ เพราะพระองค์ท่านเทศน์เอาไว้แล้ว ปฏิปทาของพระองค์วันตรัสรู้อย่างไรล่ะ...ท่านตั้งปฏิปทาไว้แล้วใช่ไหมล่ะ ท่านจะพูดกับใครก็วาจาชอบ สมบูรณ์ด้วยสติ ศีล สมาธิ ปัญญา สติปัญญาของท่าน รอบรู้หมดแล้ว ส่วนธาตุขันธ์ท่านก็พิจารณามาตั้งแต่ยังไม่ได้บวช เห็นแล้วเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วปล่อยไปตามธรรมชาติ เมื่อมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตายอย่างนี้ คงมีทางใดทางหนึ่งที่จะออกจาก เกิดแก่เจ็บตายได้ แต่ท่านยังค้นไม่พบเท่านั้นเพราะว่าเป็นธรรม ส่วนที่ลึกละเอียด ท่านจึงได้ออกบวช เมื่อออกบวชแล้ว 6 ปี ถึงได้ค้นพบตัวเหตุตัวปัจจัย ไม่ใช่เล่นๆนา พวกเรามาเห็นอย่างนี้ คล้ายๆกับว่าพระองค์เตรียมทาง ให้เราแล้วราดยางให้เราแล้ว เรามีรถยนต์ก็ขี่ไปเท่านั้นเอง ขับดีก็ดี ขับไม่ดีก็ตกถนนเท่านั้น ตาเราดีหรือไม่..ขับไป สติเราดีหรือไม่..ขับไป สติเปรียบเหมือนตา ปัญญาเปรียบเหมือนแสงสว่าง ประสาทของตาดีหรือไม่ถ้าเราตาฝ้าตาฟางไม่ดี เคยเห็นที่อาตมาเขียนไว้เป็นคติ จำได้ไหม "สติเป็นตา ปัญญาเป็นแสงสว่าง สติจางแสงสว่างไม่พอ เหมือนตาลอฝ้าฟาง ย่อมเห็นวิปพิการ" และ "สติกล้า ปัญญาสว่าง รู้จักทางถูกผิด จิตสงบพบสันติสุข รู้ทุกข์เพราะสติปัญญา"
ปุจฉา: ที่ท่านอาจารย์บอกว่าพระพุทธเจ้าสร้างถนนราดยางไว้เสร็จนี่ คนที่ได้เห็นถนนแล้วทำไมยังไปไม่ได้หมด ยังหลงทางกันอีก
วิสัชนา: ไปถามเขาซี่ มาถามอาตมาไม่ได้หรอก ถมไปที่คนเห็นถนนราดยางแล้วไม่เดิน ก็เดินเข้าป่าเข้ารกเข้าพงไป ไม่งั้นเขาจะว่าหลงเห็นกงจักรเป็นดอกบัวหรือ ท่านอาจารย์มั่นท่านก็บอกว่าท่านเองก็หลงมา พอแรงแล้ว เรื่องนี้น่ะเรามันเพียงแต่เป็นสติ เป็นปัญญา พระพุทธเจ้าท่านเป็นมหาสติมมหาปัญญา อาตมาไปอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ภาวนาแล้วจิตมันลงสู่ฐีติจิตตลอดคืนยันรุ่ง ถอนขึ้นมามีนิมิตขึ้นมาจากนิมิตก็ไปตามอารมณ์และก็เพลินอยู่ในฐีติจิตว่ามันสุข มันไปติดอยู่ในอดีต มันไม่ดูปัจจุบัน มันไม่วางไปเลย สบายไปเลย ไปกราบเรียนถามท่านว่า "บุคคลผู้พิจารณาควรต้องมีสติให้ได้ทุกลมหายใจไม่ใช่หรือครับ ถ้าไม่ได้ทุกลมหายใจ สติมันเผลออยู่อย่างนี้จะไม่เป็นไรหรือครับ" ท่านนั่งสงบจิตพิจารณาครู่หนึ่งแล้วก็ตอบว่า "ไม่ได้หรอก ผมก็ไม่ได้ทุกลมหายใจ พวกสาวกไม่ได้ทุกลมหายใจดอก มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นแหละที่ได้ เพราะพระพุทธเจ้า ท่านเป็นมหาสติ มหาปัญญา ส่วนพระสาวกนั้นเปนแต่เพียงสติ เป็นแต่เพียงปัญญา ไม่ได้ทุกขณะจิต ต้องมีการพลั้งเผลอเป็นธรรมดา แต่ถ้าการเผลอนี้ไม่เพลิดเพลินไม่จัดเป็นเสียหาย แต่การพลั้งเผลอด้วยความเพลิดเพลินลุ่มหลงยินดีนั้นเสียหาย ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ยินดีในสิ่งนั้น ต่อไปจะเกิดเป็นมานะขึ้นได้"
ปุจฉา: ขอประทานโทษ ตอนท่านอาจารย์บวชตอนแรกๆท่านอาจารย์มีเผลอไปบ้างไหม
วิสัชนา: อาตมาบวชตอนแรก ก็เผลอไปบ่อย ๆ เหมือนกัน แต่ถ้าเราจับจุดมันได้ถึงจะเผลอไปก็รีบเอาสติเข้าจับไว้ สำคัญที่เราต้องจับจุดให้ได้ และคอยระวังไว้
ปุจฉา: แต่ก่อนเวลาพิจารณาอะไร ประเดี๋ยวมันทิ้งสิ่งนี้ ไปติดที่การทำงานทางโลกของเรา แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าไปได้นาน อย่างเมื่อจับอะไรอยู่ก็จะนิ่งอยู่กับสิ่งนี้อยู่ได้นาน แปลว่าสติของเราก็ดีขึ้นหน่อย ต่อไปถ้าหัดไปก็จะอยู่กับสิ่งนั้นได้นานมากขึ้น มีบางท่านบางองค์ท่านเคยสอนว่า ให้ภาวนาให้มีสติปัญญาแก่กล้าก่อน มีรากฐานมั่นคงเสียก่อน อย่าเพิ่งไปทำวิปัสสนาเร็วนัก เดี๋ยวจะเฝือ เพราะว่าสติเรายังอ่อนอยู่ บางองค์ก็ว่าอย่าภาวนามาก สมาธิแก่กล้ามากไปไม่ดีเดี๋ยวเป็นบ้า ดูต้านกันอยู่ ก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร
วิสัชนา: วิปัสสนาความรู้แจ้ง ถ้ารู้แจ้งก็ไม่เป็น ถ้ายังไม่รู้แจ้งก็ยังไม่ใช่วิปัสสนา สติเป็นตัวสมถะ วิปัสสนาเป็นตัวปัญญา ธรรมอันนี้อันเดียว เราไปเรียกเองต่างหาก พระท่านแต่ก่อนท่านอยู่ในป่าเห็นใบไม้ร่วงลงมา โอ้...อนิจจังวัตสังขารา สิ่งที่ไม่มีวิญญาณเป็นของไม่เที่ยง สิ่งที่มีวิญญาณก็เหมือนกัน เราคิดอย่างท่านยังไม่ได้ มันก็ยังไม่แจ้ง ยังไม่สันทิฏฐิโก เวลาท่านอาจารย์คิดแล้วมันกระจ่างจากใจ ถ้าไม่ได้รู้กระจ่างจากใจ ไม่ได้รู้เองเห็นเอง มันเป็นไปตามตำรา
ปุจฉา: ของท่านอาจารย์เวลาได้ธรรมะชัดผุดขึ้นในใจมันสว่างโร่ไปหมดใช่ไหมคะ
วิสัชนา: คราวแรกก็ต้องอาศัยตำรา อาศัยจากการได้ยินได้ฟังมาก่อนเหมือนกัน เหมือนการเดินทางที่จะให้ไปถึงจุดหมายได้ก็อาศัยแผนที่เดินทาง เดินไปตามทางที่ท่านผู้รู้บอกไว้แนะไว้ บากทางไว้ให้ ก็จะไปถึงที่หมายได้เร็วขึ้น พอถึงแล้วก็ร้อง... อ้อนี่เอง ที่ท่านว่า ฟังจากท่านเราก็วาดภาพไว้อย่างหนึ่ง ถึงที่แล้วเราก็เห็นเอง อาจจะเหมือนที่คาดไว้ก็ได้ เหมือนก็ได้ แต่มันก็ถึงบางอ้อทั้งนั้น คิด ๆ ดูก็ไม่ใช่ของยากถ้าจับจุดถูก เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าเมื่อท่านได้ตรัสรู้ใหม่ ๆ ท่านก็เยาะเย้ยตัณหา เยาะเย้ยเล่นอยู่ในใจ ตัณหาเมื่อเราไม่พบไม่เห็นจับตัวของท่านไม่ได้ ท่านก็พาเรากระเซอะกระเซิงเกิดในภพน้อยภพใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด เดี๋ยวนี้เราค้นพบตัวท่านแล้วจับตัวท่านได้แล้ว ปราสาทของท่านเราได้ทำลายแล้วด้วยดาบสติปัญญาที่มี ยอดปราสาทของท่าน เราก็ทำลายแล้วมันเผาทิ้งแล้ว ปราสาทคืออะไร จักษุประสาทคือตา โสตประสาทคือหู ฆานประสาทคือจมูก ชิวหาประสาทคือลิ้น กายประสาทคือกาย มนะคือใจ ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ หมายความว่าทำลายแล้ว ยอดปราสาทคือตัวเหตุตัวปัจจัย อวิชชา โกรธ หลง ทำลายเราแล้วพ้นจากสังขารแล้ว จิตของเราพ้นจากสังขาร ไม่มีสังขารแล้ว นี่ท่านเยาะเย้ยภายในกายใจของท่าน ท่านเปล่งอุทานว่า "พราหมณ์คือนักบวช พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งอยู่ด้วยความมีสติ พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ด้วยความมีปัญญาย่อมรู้เหตุของปัจจัยของธรรมทั้งหลาย เมื่อพราหมณ์ผู้รู้เหตุรู้ปัจจัยของธรรมทั้งหลายแล้ว พราหมณ์ผู้นั้นย่อมทำเหตุทำปัจจัยธรรมทั้งหลายให้สิ้นไป เมื่อพราหมณ์ได้ทำเหตุทำปัจจัยของธรรมทั้งหลายให้สิ้นไปแล้ว พราหมณ์นั้นย่อมเป็นผู้ชนะมาร มารและเสนามารย่อมรังควาญพราหมณืผู้นั้นไม่ได้ เหมือนลมรังควาญภูเขาไม่ได้ พราหมณ์นั้นย่อมเป็นผู้ชนะมาร เหมือน พระอาทิตย์ที่ทำความมืดให้สว่างฉันนั้น" ไม่หลงอีกแล้ว ถ้าจิตเข้าไปพักอยู่มันจะเป็นอย่างไร ตัวเหตุตัวปัจจัย องค์ที่จะไปรู้ตัวเหตุตัวปัจจัยก็ดี ของธาตุขันธ์ก็ดี ต้องถอนขึ้นมาทุกขั้นเลย ที่ขาดจากอาสวะตัดไปจากอาสวะ จากภพจากชาติรู้อยู่ในขั้นอุปจาระนี้ ขั้นอุปจาระคือขั้นตัวสติปัญญา ขั้นสมถะ นี่ถ้าเราขาดสติปัญญา ธรรมอันเป็นอนัตตาหาประมาณมิได้ ถ้าขาดสติปัญญาเพราะมันแทรกอยู่ ท่านว่าเปรียบเหมือนน้ำไหลในถาด มันก็มีอันหนึ่งแทรกอยู่ แล้วแต่ว่าภายในหรือภายนอกที่แทรกอยู่ บางทีเป็นอุบาย บางทีเป็นนิมิตเป็นภาพที่แทรกอยู่ เมื่อสติปัญญาเราไม่พอ มันก็วางวิ่งไปตามนิมิต เหมือนฉายหนัง มีแต่อยากจะพูดอยากจะคุย ถ้าของจริงแล้วก็สงบ
ปุจฉา: แต่ละองค์ท่านต้องหลงอย่างท่านอาจารย์ว่าไหมครับ
วิสัชนา: มีเยอะเกือบจะทุกรายน่ะ เพียงแต่ว่าท่านรู้แล้วถอยกลับมาเร็วหรือไม่เท่านั้น บางองค์ก็แก้ไขได้ บางองค์ก็แก้ไขไม่ได้
ปุจฉา: อย่างนี้เพื่อนฝูงช่วยกันได้ไหมครับ
วิสัชนา: ได้
ปุจฉา: ท่านอาจรย์เคยบอกว่า เมื่อจิตรวมถึงฐีติจิต เราจะเกิดรู้ตัวขึ้นมาเองใช่ไหมครับ
วิสัชนา: ใช่แล้ว...รู้เอง ท่านอาจารย์ใหญ่มั่นท่านแนะนำไว้เสมอว่า ถ้าจิตมันรวมลงถึงขีดถึงขนาด ให้มีสติกำกับไว้ ปล่อยให้จิตรวมอยู่ อย่าไปรบกวนจิต และจะบังคับให้จิตรวมหรือบังคับให้จิตถอน นี่บังคับไม่ได้ อย่าไปรบกวนจิต ถ้าจะถอนจิตมันถอนเอง แต่เราต้องมีสติรู้อยู่ นี่ประเภทจิตรวมนะ ถ้าจิตจะถอนขึ้นก็ให้มีสตเกิดมีนิมิตเรามักจะตามนิมิต มันเผลอไปเรื่อย เราต้องมีสติตามไปด้วย นิมิตไปไหนก็ตามไปด้วย นี่แหละมันมักจะเสียกันตอนนี้ อาตมาก็เสียตอนนี้เหมือนกัน
ปุจฉา: ตอนนั้นท่านอาจารย์แก้ไขได้อย่างไร และเผลอไปนานไหมครับ
วิสัชนา: มันมีวิธีแก้ในตัวของมันเอง ก็เผลอไปนานมั่ง ไม่นานมั่ง แล้วแต่จิตนิสัยของแต่ละบุคคล
ปุจฉา: บางครั้งภาวนา เมื่อจิตเริ่มรวม ได้เกิดนิมิตภาพ จิตก็ตามนิมิตนั้นไปเพราะอยากรู้ว่านิมิตภาพนั้นเป็นใคร เขามาปรากฏทำไม เขาต้องการจะให้เราช่วยอะไรบ้าง เกิดความสงสัยว่าเวลามีนิมิต ควรทำอย่างไร
วิสัชนา: นิมิตจะเกิดขึ้นได้มีอยู่ 2 ระยะคือ ระยะแรก ก่อนที่จิตจะรวมแต่ยังรวมไม่ถึงขีด จะเกิดนิมิตขึ้น ระยะที่ 2 เมื่อจิตรวมถึงขีดแล้ว ตอนจิตกำลังจะถอนขึ้นก็จะเกิดนิมิตขึ้นได้ นิมิตเกิดขึ้นได้2 ระยะต้องระวัง ระวังปากอ่าว ต้องคุมไว้ให้ดี ปากอ่าวอันตรายอย่าไปตัดนิมิต อย่าไปอยากรู้ มันเห็นมาแล้ว ไม่ได้ผลประโยชน์อะไร เรากลับมาพิจารณากัมมัฏฐานของเราให้ดี ความอยากรู้ในนิมิตมันเป็นตัณหาเป็นตัวสมุทัย มันเป็นตัวสังขาร นั่นท่านเรียกว่า อาการของจิต บางทีอาการของจิตจะหลอก จิตเป็นของวิจิตรพิสดาร จะหลอกเรา กิเลสของเรามันหลอกตัวเรา ให้ไปหลงในภาพนิมิต พวกนักศีกษาหรือนักเรียนใหม่ก็อย่างนี้แหละ มักจะสนใจอยากรู้อยากเห็น จิตใจของเพื่อนต่าง ๆ อยากรู้อยากเห็นดวงวิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว อยากรู้อยากเห็น เทพบุตรเทวดาต่าง ๆ ภูตผีปีศาจอย่างนั้นอย่างนี้ จะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ เหมือนเรานอนหลับสนิทเราก็คงรู้ว่าเวลานอนเราหลับสนิทจะไม่รู้อะไรเลยเหมือนกับคนตาย พูดง่าย ทีนี้เวลาเราตื่นขึ้นใหม่ ๆ ยังไม่มีสติ ถ้าอะไรมาประสบในเวลาตื่นขึ้นใหม่ ๆ ก็ต้องตื่นเต้นใช่ไหม ก็ต้องตื่นเต้น พวกเราพอจิตรวมเวลาถอนขึ้นามีนิมิต จิตมาเจอะอะไรก็จับปุ๊บเลย จับเอาแบบไม่มีสติเพลินไปเลยนี่ มันไปไกลจนสุดกู่กว่าจะรู้ตัว เอ๊ะ.. เราผิด.. มันเกินไปไกลแล้ว รู้เท่ากินครึ่งแล้ว รู้ไม่ถึงกินหมด จะทำอย่างไรหล่ะ คือว่าเรารู้แล้วอย่างนี้มันแก้มันเอง นิสัยของเราเคยเป็นอย่างนั้นก็แก้มันเองได้ อย่างพระพุทธเจ้าท่านก็ปล่อยเหมือนกัน เมื่อพระองค์ท่านได้ฌานทีแรกระลึกชาติหนหลังได้ ท่านก็ตรวจชาติหนหลังจนไม่มีที่ตรวจ ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็กลับมาพิจารณาจิตก็รวมอีก จิตถอนขึ้นมาท่านก็ได้ฌานจนนิมิตสิ้นสุดอีก ท่านก็กลับมาพิจารณา แต่ว่านั่นเป็นธรรมดาของสัตว์ผู้มีกรรมกิเลสอยู่ เป็นกิเลสวัฏ กรรมวัฏ หมุนรอบ ท่านม้วนตรงนี้เลย ม้วนตรงกิเลสวัฏ กรรมวัฏ ดูไปก็เป็นกิเลสวัฏ กรรมวัฏ ดูแล้วมีประโยชน์อะไรล่ะ ถ้าเราไม่ตัดมันก็จะต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เราลูกศิษย์พระพุทธเจาก็ต้องตัดตามท่านซี่