หลวงพ่อชา สุภัทโท 1

         













                                               

         ตอบปัญหาชาวคณะคนพ้นโลก

หลวงปู่ชา สุภัทโท 


ปุจฉา:  การภาวนานี้ เราไปยืน เดิน นอน อะไรอย่างนี้ จะมีผลอะไรบ้างไหมครับ?

วิสัชนา: มีมั่ง…แต่เหตุมันต้องสงบถึงที่มันเสียก่อน ให้มันถึงกับปัญญาล่ะ มันดีมากที่สุดแหละ 

คือ มันบ่มมาถึงที่สุดแล้ว มันก็สุกขึ้นมาได้ แต่ว่ามันมีแง่อยู่อย่างหนึ่งว่า ไอ้ความสำเร็จในการปฏิบัตินี้ 

มันมีเรื่องติดไปด้วยปัญญา วิปัสสนาภาวนา ปัญญากับจิตมันอยู่ร่วมกัน บางคนน่ะไม่ต้องไปทำอะไรมันมาก 

มันรวมเข้าไปของมัน อย่างคนที่มีปัญญา ไม่ต้องทำอะไรมันมากเรื่องสมาธิ คล้ายๆ ที่ว่า…

สมมุติเราเป็นช่างวาดเขียน เราไปมองเห็นแล้ว และก็เข้าใจๆ จนมันติดอยู่ในใจของเรา เราไปเขียนออก

มาจากใจของเราได้ ไม่ต้องไปนั่งวาดอยู่ตรงนั้น คนที่ไม่เข้าใจ คนนั้นต้องไปนั่งเขียนไปเลยก็ได้


มันเป็นอย่างนี้ บางคนก็ใช้ปัญญาน้อย บางคนก็ใช้ปัญญามาก อาจจะตรัสรู้ธรรมะในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งก็ได้

การยืนการเดินการนั่งการนอน

  ท่านให้ทั้งนั้นก็เพราะอะไร…ก็เพราะเราเป็นอย่างนี้ ท่านถึงให้อย่างนั้น

ไอ้บางคนไม่ต้องไปนั่งเขียนอะไรที่ตรงนั้น เราไปมองปั๊บเดียวเข้าใจ ไปนั่งเขียนมันก็เสียเวลาเรา 

ถ้าเราไปนั่งเขียนตามความเข้าใจเรา มันก็คล่องขึ้น มันเป็นอย่างนี้


แต่ว่าต้องพยายาม แบบของมันอย่าไปทิ้ง มันก็เหมือนกับที่ว่าการนั่งสมาธิแบบเดิมมันก็นั่งขาขวา 

ทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้ายตั้งกายตรง บางคนว่า เดินก็ได้…นั่งก็ได้…คุกเข่าจะได้ไหม…ได้ 

แต่ว่าเราเป็นนักเรียนใหม่ เรียนหนังสือ เขียนหนังสือ ต้องคัดตัวบรรจงเสียก่อน 

ให้มันมีหัวมีหางเสียก่อน ถ้าเราเข้าใจดีแล้ว เราเขียนอ่านเอง เราเขียนหวัดไปก็ได้ อย่างนี้ไม่ผิด 

แต่แบบเดิม มันต้องทำอย่างนั้นเสียก่อน ดีมาก…เข้าใจมั้ย…ทำถึงโน้นแล้วยัง…ไม่ทำถึงโน้นพูดให้ฟัง

ก็ไม่รู้เรื่องซีนะ (ทุกคนหัวเราะชอบใจ) รู้แต่ว่าฟังไป


ปุจฉา: หลวงพ่อครับ แล้วเกี่ยวกับฐานของลมที่จะกำหนดนี้ เราอาจจะเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ ใช่ไหมฮะ…

ไม่จำเป็นจะต้องกำหนดณ จุดใดจุดหนึ่งที่เราเคยทำอยู่

วิสัชนา: อะไรที่มันมีสติอยู่ ไม่ขาดกัน…รู้สึกอย่างติดต่อกัน เอาจุดไหนก็ได้ ที่เรียกว่าจุดนั้น…ขยายจุดนี่น่ะ 

เพื่อจะให้มันติดต่อกันเท่านั้นแหละ เอาจุดไหนก็ได้ ที่มีความรู้ติดต่อกัน จุดไหนที่มันมีสติสัมปชัญญะจุดนั้น…

จุดไหนก็ได้ ถ้ามันมีอยู่อย่างนั้น


สติสัมปชัญญะ ทั้งสองนี้ ก็เหมือนคนสองคนมันไปยกเอาไม้อันหนึ่ง…มันหนัก…ไอ้คนที่สามนี้ไปมองดู

เห็นมันหนักก็เข้าช่วย ถ้ามันหนักไม่ช่วยไม่ได้ ต้องเข้าช่วย คนที่เข้าช่วยนี้…คือตัวปัญญา อยู่ไม่ได้อันนั้น 

ถ้ามีสติสัมปชัญญะแล้วปัญญาก็ต้องวิ่งเข้ามาหา คล้ายๆ ที่ว่าสองคนมันแบก…มันหนัก ไอ้คนหนึ่ง

ที่มีปัญญาฉลาดน่ะ จะทนนิ่งอยู่เฉยๆได้หรือ ต้องช่วยกัน ไอ้คนที่สามก็ไปช่วยก็เบาขึ้นมา…เห็นมั้ย…

สติสัมปชัญญะ สติ คือความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว มีอยู่แล้วปัญญาจะนิ่งอยู่ไม่ได้ 

จำเป็นต้องเข้ามาช่วย สามประการนี้ประกอบกันเข้าไป ความรู้สึกที่มันติดต่อกันได้ทั้งนั้น


ปุจฉา: เวลาเราขยายลมกระจายทั่วออกไป กำหนดจิตให้กว้างออกไป แต่พอลมกระจายไปแล้ว 

เรารวมจิตเข้ามาไว้ข้างใน มันจะรู้สึกว่าลมนี้มันจะคับแคบไป

วิสัชนา: อันนั้น…มันความรู้สึกของเรา มันไม่แคบ มันไม่กว้างหรอก…มันพอดี ถ้ามันถูกมันแล้ว 

มันพอดีทั้งนั้นแหละ ไอ้ที่มันแคบๆ เกินไป…กว้างเกินไปน่ะ ความรู้สึกเช่นนั้นไม่ถูกแล้ว มันเกินพอดีแล้ว 

หรือมันไม่ถึงพอดี ถ้ามันถูกมันแล้ว มันพอดีทั้งนั้นแหละ มันไม่กว้าง…

มันไม่แคบ มันพอดี ถ้าพอดี…นั่นแหละ…มันพอดีเราต้องรู้จักอย่างนั้น ถ้าหากว่ามันไม่ถึง 

ก็เรียกว่ามันไม่ถึง มันสั้นไป ถ้ามันยาวเกินไป ก็เรียกว่ามันยาวเกินไป มันไม่ถึงที่ มันไม่ถึงจุดพอดีของมัน


ปุจฉา: หลวงพ่อฮะ พูดถึงว่า ถ้าเผื่อว่าลมมันหมดนะฮะ แต่รู้สึกว่าข้างในมันยังไม่หมด นี่แสดงว่า 

ลมยังไม่หมดใช่ไหมฮะ…คือเวลากำหนดน่ะฮ่ะ…ส่วนข้างนอกรู้สึกว่ามันหายไป แต่ข้างในรู้สึกว่ามันยังมีอยู่

วิสัชนา: มันมีอยู่ ก็ดูว่ามันมีอยู่ มันหมดไป ก็ดูว่ามันหมดไป ก็แล้วกันเท่านั้น ไปสงสัยอะไรมัน

ปุจฉา: คือแปลกใจว่า ข้างนอกมันหมดแล้ว แต่ข้างในทำไมมันยังไม่หมด

วิสัชนา: เอ๊า…มันเป็นอย่างนั้นของมัน อันนั้นมันซับซ้อนกันอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่ต้องสงสัยแล้ว 

ตรงนั้นน่ะทำไมมันถึงเป็นยังงั้น ก็เรื่องของมันจะเป็นยังงั้น มันก็ต้องเป็นของมันยังงั้น


ปุจฉา: แล้วจะทำยังไง…หรือปล่อยเฉยไว้อย่างนี้

วิสัชนา: ไม่ต้องทำซี่…ทำความรู้สึกเท่านั้นแหละ อย่าไปทำอันอื่นเลย อย่าไปลุกเดินลุกวิ่งตามมันเลย 

ดูมันไปตรงนั้นแหละ  มันจะถึงแค่ไหน มันก็ถึงแค่นั้นของมันแหละ จับจุดอยู่ตรงนั้นเท่านั้นก็พอแล้ว 

ถึงนั้นแล้วยัง…เคยไปถึงนั้นแล้วยัง


ปุจฉา: เคยครับ

วิสัชนา: เออ…พูดเท่านี้ก็รู้จัก ถ้าเคยไปถึงนั่น


ปุจฉา: มันมีความรู้สึกอยู่ ก็พยายามนิ่งเฉยมัน แต่ทีนี้รู้สึกว่าร่างกาย…ตัวเราอยู่ข้างหน้า แต่เห็นไม่ค่อยชัด

วิสัชนา: ไม่เป็นไรๆ


ปุจฉา: แล้วกำหนดไปอีก เห็นเป็นซี่โครงขาวๆ คล้ายๆ กับที่หลวงพ่อแขวนอยู่ที่นี่ นึกๆ ขึ้นมา 

เลยคิดว่าใจมันเกินไป มันเลยหายวูบไปเลย

วิสัชนา: อันนั้นเขาเรียกว่า “ปฏิภาคนิมิต” ขยายรูป… ขยายแสง ขยายให้ใหญ่ก็ได้ ขยายให้เล็กก็ได้ 

ขยายให้สั้นก็ได้ ขยายให้ยาวก็ได้ เรื่องเราขยาย ไอ้ความเป็นจริงนั้นก็จิตที่มันสงบแล้วก็พอแล้วเรื่องนี้…

พอแล้วเป็นฐานแล้วเป็นฐานของวิปัสสนาแล้ว ไม่ต้องขยายอะไรมันมากมาย พอที่ว่ามันมีฐาน

จะให้ปัญญาเกิดแล้ว ก็พอแล้ว


เมื่อปัญญาเกิด อะไรปุ๊บมันเกิดขึ้นมา มันแก้ปัญหาของมันได้แล้ว มันมีปัญหาก็ต้องมีเฉลย 

อารมณ์อะไรที่มันเกิดขึ้นมาปุ๊บเป็นต้น มันเป็นปัญหามา เมื่อเห็นปัญหาก็เห็นเฉลยพร้อม มันก็หมดปัญหาแล้ว 

อันนี้ความรู้มันสำคัญ อะไรที่ปัญหามันเกิด แต่เฉลยไม่เกิดก็แย่เหมือนกันนะ ยังไม่ทันมัน 

ฉะนั้นไม่ต้องคิดอะไรมาก เมื่อมีปัญหาขึ้นมาปุ๊บ…เฉลยพร้อม เป็นปัจจุบันอย่างนี้…นี่เป็นปัญญาที่สำคัญที่สุด 

อะไรที่เราไม่ได้นึก…ไม่ได้คิดอะไรหมด แต่ปัญหามันเกิดขึ้นมาปุ๊บ…มันมีตัวเฉลยพร้อม 

ไม่ต้องไปคว้าเอาตรงนั้น ไม่ต้องไปคว้าเอาตรงนี้ เอาตรงนั้นก็พอแล้ว


คือปัญหานั่นแหละมันบอกให้เฉลยเกิดขึ้นมา มันเป็นเสียอย่างนั้น ตรงนั้นมันหมดกันที่ตรงนั้นแหละ 

ไม่หมดกันที่ตรงไหนหรอก ปัญญาตรงนี้เป็นปัญญาที่ทันเหตุการณ์…สำคัญนะ เป็นปัญญาที่ทันเหตุการณ์…

สำคัญ ถ้าเรามีเช่นนี้ทุกอย่าง…ทุกข์ไม่มี


เมื่อใดเกิดปัญหาขึ้นมา มีเฉลยปั๊บๆ ทุกข์นั้นเกิดขึ้นไม่ได้แล้ว มันวางทั้งนั้น มันทำลายอุปาทานทั้งนั้นแหละ 

ถ้าเราแก้ปัญหามันที่เกิดขึ้นมา แหม…ต้องไปกับมันตั้งสองวัน…สามวัน มันห่างเกินไป 

มันไม่ทันช่วงของมันแล้ว เกิดเดี๋ยวนั้น…เอาเดี๋ยวนั้น เห็นปัญหาเกิด…มีเฉลยพร้อมๆ 

มันทุกขณะ เกิดดับ กลับพร้อมกันเลย อย่างนี้ก็น่าดูเหมือนกันนะ


ปุจฉา: แล้วอย่างนี้เราจะมีปัญญาอย่างไร ถึงจะรู้ได้เท่าทันมัน…

วิสัชนา: อย่าไปถามมัน มันมีอยู่ในนั้นแหละ มันมีอยู่แล้วตรงนั้นน่ะ อันนี้ที่ว่าทำไมถึงจะมีปัญญารู้เท่าทันมัน 

อันนี้คือคนยังไม่ถึงตรงนั้น ถึงพูดอย่างนี้ ถ้าถึงตรงนั้น…ปัญหานี้จบ ให้เข้าใจไว้ ไม่มีที่จะสงสัย 

ไม่มีปัญหาแล้วตรงนี้ ถ้ารู้จุดนั้นแล้ว…อันนี้ไม่ต้องมีปัญหาแล้ว 

ถึงพูด…ไม่พูด ก็ไม่มีปัญหาแล้ว มันรู้เรื่องของมันแล้วตรงนั้นน่ะ


ปุจฉา: ตามใบหน้า…ตามจมูก บางทีมันปวด…

วิสัชนา: อ๋อ…อันนี้มันเรื่องมันปวดเว้ย…มันก็แก้ยากนะ กำหนดมันจนเกินไปมั้ง


ปุจฉา: ครับ…ถูกต้อง

วิสัชนา: อย่าไปกำหนดมันมากซิ นั่งเฉยๆซะ…นั่งเฉยๆ ให้มันมีความรู้สึกอยู่นั่นแหละอย่าไปบีบมันเกินไป 

แม้กระทั่งลมหายใจเรานี่ก็ลำบากนะ ถ้าเราเดินไปเดินมาไม่ไปควบคุมมันก็ไม่เท่าไร…

มันสบาย ถ้าเราไปนั่ง จะกำหนดลมหายใจมัน ให้มันถูกต้อง 

อะไรต่ออะไรวุ่นวาย บางทีก็เลยหายใจไม่ถูกต้อง ก็เพราะว่าบีบมันเกินไป เมื่อเราถอนมาอยู่เฉยๆซะ ก็ไม่เป็นไร


ไอ้ลมหายใจนี่ก็ลำบากนะ เมื่อเอาจริงๆ …มันไม่ลำบากอย่างนั้น บางทีก็หายใจไม่ถูกต้อง 

มันยาวเกินไป…มันสั้นเกินไป เลยวุ่นวาย อันนี้ก็เพราะ…เรากำหนดมันเกินไปไปบีบมันเกินไป 

มันถึงเป็นอย่างนั้นก็เหมือนเด็กๆ น่ะแหละ สอนให้มันนั่ง สอนทีไรเฆี่ยนทุกทีๆ น่ะ 

เด็กมันจะมีความฉลาดขึ้นมามั้ย ไปบังคับมันจนเกินไป อันนี้ก็เหมือนกันถ้าเรามาคิดดูว่า 

เมื่อเราเดินจากบ้านไปสวน หรือเดินจากบ้านไปทำงาน ทำไมมันไม่รำคาญเพราะลม 

นี่เพราะเราไปเพ่ง ไปกำหนดมันเกินไป ให้ทำด้วยการปล่อยวาง…


อย่าไปยึด…ยึดอย่าให้มันมั่น เข้าใจมั้ยอย่าไปยึด แก้วใบนี้น่ะเรายึดมาดูเสียก่อน รู้แล้วก็วางมัน 

นี่เรียกว่า…ไอ้ตามแบบอย่าไปยึดมั่น คือยึดอย่าให้มันมั่น ยึดมาดูรู้เรื่องมันแล้ว…ก็วาง…มันสบาย 

อันนี้ก็เหมือนกับอันนั้น ที่มันเจ็บปวดตามสภาวะแถวนี้เพราะไปกำหนดมันมาก 

ถอยออกมาบ้าง อย่าขยับเข้าไปให้มันมาก เพ่งจนเจ็บ เพ่งจนปวด มันก็ไม่ได้ตรงนั้น เคยเป็นทุกทีมั้ยนั่น


ปุจฉา: เป็นทุกทีครับ

วิสัชนา: นั่นแหละ…ถอยกลับเสียมั่ง ทำสบายๆ ทำความรู้สึกไว้เท่านั้น อย่าไปกำหนดเกินไป 

แต่ทำความรู้สึกไว้ ทำด้วยการปล่อยวาง ทำอะไร…ทำด้วยการปล่อยวางไม่ได้ทำด้วยการยึดให้มันแน่น 

แล้วก็สบาย


ปุจฉา: ในช่วงระยะที่เราอยู่ในสภาวะที่กำหนดเห็นว่า ร่างกายมันใหญ่ได้ ตรงนั้นเป็นสภาวะที่สงบนิ่งแล้ว

ใช่ไหมครับ…หรือว่าเราต้องใช้ปัญญาพิจารณาในตอนนี้

วิสัชนา: ถ้ามันไม่สงบ มันไม่เกิดอาการอย่างนั้น ที่เกิดอาการอย่างนั้นเพราะจิตมันสงบ มันถึงเป็นอย่างนั้น 

แต่ให้ควบคุมสติเราให้ดีว่า มันใหญ่เกินขนาดไหน มันเล็กเกินขนาดไหน เมื่อกำหนดเข้าไปถึงที่สุดแล้ว 

ก็กำหนดเข้าไปข้างใน อย่าวิ่งไปข้างนอก ถ้าวิ่งไปตามข้างนอกมันจะขยายตัวออกไปเรื่อยๆ 

เดี๋ยวก็เป็นหมู เดี๋ยวก็เป็นหมา เดี๋ยวก็เป็นม้า เดี๋ยวก็เป็นช้าง เดี๋ยวก็เป็นโน้น 

เดี๋ยวก็ลุกขึ้นมาไล่มันเท่านั้นแหละ ให้รู้ว่าอันนี้มันเป็นนิมิต สะเก็ดของความสงบมันเกิดจากที่สงบนั้น 

มันเป็นอย่างนั้น อาการจะเกิดนิมิตอย่างนี้มันต้องสงบแล้ว มันจึงเกิดอย่างนั้น เมื่อเกิดแล้วก็ดูมัน 

เมื่อเราอยากจะให้มันหาย ก็อย่าไปวิ่งตามมัน

เรารู้แล้วว่ามันเกิดเป็นนิมิตอย่างนั้นก็กำหนดกลับเข้ามาในจิตมันก็หายได้


ปุจฉา: ทีนี้เมื่อกำหนดรู้ว่า มันจะใหญ่เกินไป มันจะคับมาก หรืออะไรอย่างนี้ อาจจะทำให้เราตกใจขึ้นมา…

วิสัชนา: อย่าไปตกมันซิ มันเต็มสติมันแหละ บางทีนั่งอยู่ จมูกมันโด่งไปถึงโน่นก็ได้ ให้มันโด่งไปซิ 

มันยาวไปจริงมั้ยนั่น เรามีสติอยู่น่ะมันไม่ยาวจริงอย่างนั้น มันมีความรู้สึกปรากฏขึ้นอย่างนั้น 

เรียกว่านิมิต… ไม่มีอันตราย เราครองสติเราให้ได้ บางทีมันนั่งอยู่ศีรษะมันขาดปุ๊บไปเลยก็ได้ 

แต่อย่าตกใจมันซิ ไม่ใช่มันขาดไป อันนั้นเรียกว่านิมิต


ปุจฉา: หลังจากเราเพ่งดู รู้สึกรู้…

วิสัชนา: ไม่ต้องไปตามมันแล้ว ปล่อยให้เป็นนิมิตอย่างนั้นแหละ ทำจิตเราให้สงบต่อ 

อย่าไปตามดูมัน เราตามดูมันมาพอสมควรแล้ว ถ้าตามไปมันหลงนะ มันหลงนิมิต อันนี้เรียกว่านิมิต 

ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นอะไรของมันให้มันบานปลายลงไป

เมื่อเราอยากจะให้นิมิตนั่นหายไป เราก็กลับคืนที่ของเราซะ จิตของเรามันอยู่ขนาดไหน อะไร ยังไง…

กำหนดให้รู้เข้ามา


ปุจฉา: ถ้ากำหนดเข้ามา ลมหายใจก็ไม่มีใช่ไหมครับช่วงนั้น

วิสัชนา: มีซิ…มี


ปุจฉา: ถึงช่วงนั้น ตอนนั้นพิจารณาได้ใช่ไหมครับ

วิสัชนา: ปกติ…ตรงนั้นมันปกติ อาตมาว่ามาถึงตรงนั้นแล้ว มันไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก 

มันจะหมดปัญหาแล้ว มันจะมีมา ก็หมดปัญหาแล้ว มันจะไม่มีมา มันก็หมดปัญหาแล้วตรงนั้น 

ไม่ต้องสงสัยว่ามันเป็นอย่างนี้ ถ้ามันเป็นอย่างนั้น ในเวลานั้น


ปุจฉา: แต่บางทีมันทำให้เราตกใจ…

วิสัชนา: อย่าไปตกมันซิ…อันนั้นมันเป็นนิมิต อย่าไปตกใจมันเลย ไม่มีอะไรจะทำอันตรายเราได้แล้ว 

แต่อาการของจิต มันเป็นไปทุกอย่างแหละ แต่ว่าอะไรจะมาทำอันตรายเราไม่ได้


ปุจฉา: เมื่อไม่มีนิมิตอะไร เราต้องถอย…

วิสัชนา: ไม่ต้องถอย ประคองจิตนั่นไว้ ถึงวาระของมัน มันจะเป็นของมันเอง อย่าไปแต่งมัน 

แต่งมันก็ไม่สวยเท่านั้นแหละ ของมันดีอยู่แล้ว มันจะเป็นวาระของมัน เป็นวาระเข้าออกของมัน 

ในระยะนั้นอย่าไปแต่ง ประคองจิตให้มีสติ ดูไปตรงนั้นว่า มันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรเท่านั้นแหละ


ปุจฉา: อ๋อ…ดูจุดนั้น

วิสัชนา:…ดูจุดนั้น


ปุจฉา: สภาวะตอนนั้นมันเงียบไปหมดใช่ไหมฮะ

วิสัชนา: มันเงียบ…แต่มันรู้ ไปไกลกันทุกคนแล้วมั๊ง ลูกศิษย์โยมอุปถัมภ์นี่ไปไกลกันทุกคน

มีปัญหาสำคัญๆ ทุกคน โยมผู้หญิงละมีมั้ย


ปุจฉา: มีอุบายที่จะแก้อุทธัจจะ* เสียหน่อยไหมครับ

วิสัชนา: อะไร…อุทธัจจะมันเป็นยังไง


ปุจฉา: มันฟุ้งซ่าน…เวลามันเกิดเข้มข้นขึ้นมา เราจะแก้ยังไงฮะอุบาย

วิสัชนา: มันไม่ยากหรอก…ของมันไม่แน่หรอก ไม่ต้องไปแก้มัน คราวที่มันฟุ้งซ่านมีมั้ย…ที่มันไม่ฟุ้งซ่านมีมั้ย


ปุจฉา: มีครับ

วิสัชนา: นั่น…จะไปทำอะไรมันล่ะ มันก็ไม่แน่อยู่แล้ว


ปุจฉา: ทีนี้เวลามันแลบไปแลบมาล่ะครับ

วิสัชนา: เอ๊า…ก็ดูมันแลบไปแลบมาเท่านั้นแหละ จะทำยังไงกับมัน มันดีแล้วนั่นแหละโยม 

จะไม่ให้มันเป็นอะไร…อย่างไร มันจะเกิดปัญญาหรือนั่น


ปุจฉา: มันแลบไป เราก็ตามดูมัน

วิสัชนา: มันแลบไป…มันก็อยู่นั่นแหละ เราไม่ตามมันไป เรารู้สึกมันอยู่ มันจะไปตรงไหนล่ะ

มันก็อยู่ในกรงอันเดียวกัน ไม่ไปตรงไหนหรอก นี่แหละ…เราไม่อยากจะให้มันเป็นอะไร 

ที่ท่านอาจารย์มั่นเรียกว่า “สมาธิหัวตอ” ถ้ามันแลบมา ก็ว่ามันแลบไปแลบมา ถ้ามันนิ่งเฉยๆ 

ก็ว่ามันเฉยๆ จะเอาอะไรกันล่ะ ให้รู้เท่าทันมันทั้งสองอย่าง วันนี้มันมีความสงบ

ก็ถอนมันมาให้ปัญญามันเกิด แต่บางคนเห็นว่ามันสงบนี่ดีนะ…ชอบมัน…ดีใจ วันนี้ทำสมาธิ 

มันสงบดีเหลือเกิน เรื่องดีไม่ดีมันมีราคาเท่ากัน เรื่องดีมันก็ไม่เที่ยง เรื่องไม่ดีมันก็ไม่เที่ยง 

จะไปหมายมั่นมันทำไม มันฟุ้งซ่าน…ก็ดูมันฟุ้งซ่านไปซิ มันสงบ…ก็ดูเรื่องมันสงบซิ…

อย่างนี้ให้ปัญญามันเกิด มันเป็นเรื่องของมันจะเป็นอย่างนี้ เป็นอาการของจิต มันเป็นอย่างนั้น


เราอย่าไปยุ่งกับมันมากซิลักษณะอันนั้น อย่างเราเห็นลิงตัวหนึ่งน่ะ มันไม่นิ่งใช่ไหม…

โยมก็ไม่สบายใจ เพราะลิงมันไม่นิ่ง มันจะนิ่งเมื่อ ไหร่…โยมจะให้มันนิ่ง โยมถึงจะสบายใจ มันจะได้มั้ย 

เรื่องของลิงน่ะ ลิงมันเป็นเช่นนั้น ไอ้ลิงที่กรุงเทพฯ มันก็เหมือนลิงตัวนี้แหละ ลิงที่อุบลฯก็เหมือนลิง

ที่กรุงเทพฯน่ะแหละ ลิงมันเป็นอย่างนั้นของมันเอง…ก็หมดปัญหาเท่านั้นแหละ


เอาอย่างนี้แหละ จะได้หมดปัญหาของมันไป อันนี้ลิงมันไม่นิ่ง เราก็เป็นทุกข์อยู่เสมอ 

ยังงั้นเราก็ตายเท่านั้นแหละ เราก็เป็นลิงยิ่งกว่าลิงซะแล้วมั้ง…เอาละมั้ง คงจะนอนหลับสบายมั้งวันนี้ 

โยมอุบาสิกาเงียบไปล่ะ ใครมีมั้ย…อุบาสิกามีมั้ย


ปุจฉา: ขอถามครับ ในมหาปัฏฐาน…คือคนที่เขียนหนังสือมาลงคนพ้นโลก มีหลายแบบ 

ผมอยากจะสรุปแต่เพื่อความมั่นใจ…ผมอยากจะเรียนถามหลวงพ่อ

วิสัชนา: เอ้า…ว่าไป


ปุจฉา: ในมหาปัฏฐานบอกว่า ทางสายนี้เป็นทางสายเดียวเพื่อความพ้นทุกข์ ก็มี…ต้องพิจารณา

กาย…เวทนา…จิต…ธรรม ผู้ที่จะพ้นทุกข์จะต้องพิจารณาทั้งสี่อย่าง ทั้งหมดหรือเปล่า?

วิสัชนา: กาย…เวทนา…จิต…ธรรม น่ะอันนี้มันของอย่างเดียวกันรู้อันหนึ่งก็เหมือนรู้หมด 

เหมือนเรารู้คนๆ หนึ่ง ก็รู้หมดทุกคนในโลก เหมือนเรารู้ลิงตัวหนึ่ง ลิงตัวอื่นนอกนั้น 

เหมือนลิงตัวนี้เหมือนกัน นี่…จะพูดกันง่ายๆ หลักใหญ่ของสติปัฏฐานมันเป็นอย่างนี้ 

อันนั้นมันเป็นลักษณะของมัน เมื่อรู้กาย…เวทนา…จิต…ธรรม สักแต่ว่ากาย…สักแต่ว่าเวทนา…

สักแต่ว่าจิต…สักแต่ว่าธรรมมันเป็นสัก 

แต่ว่าทั้งนั้นแหละทั้ง ๔ นั่นน่ะ มันก็พอแล้วนะ ถึงแม้ว่ามันจะรู้อันเดียว มันก็ใช้ได้


ปุจฉา: เคยมีคนมาที่นี่ เคยเอ่ยถึงท่านอาจารย์บ่อยๆ บอกว่า…ในกายนี่…พิจารณาถึงอิริยาบถของกายนะครับ 

สติสัมปชัญญะ…และก็…ถ้าพิจารณาถึงสิ่งทั้งหลาย คนนั้นแกดื้อดึง รู้สึกว่าแกจะพิจารณาแคบ…

แกบอกพิจารณาสติสัมปชัญญะอย่างเดียวก็พอ ไม่ต้องอะไร…

วิสัชนา: สติสัมปชัญญะ…ตรัสรู้ทั้ง ๔ นั้นก็ไม่มีอะไร…มันก็ไม่มีอะไรในกลุ่มอันนั้น อย่างที่ว่า

ฉันจะต้องไปแยกเกสา…โลมา…นะขา ทันตา…ตะโจ แล้วถึงจะเรียกว่าฉันพิจารณากาย 

ทีนี้อีกคนหนึ่งว่า ผมไม่พิจารณาไปทั้งหมดล่ะ พิจารณาทางมันไม่เที่ยง ทางนี้ส่วนเดียว มันก็หมดเหมือนกัน


ปุจฉา: แต่ว่าที่เห็นนั่น…ก็เห็นว่าทุกๆ อย่าง มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกันใช่ไหมครับ?

วิสัชนา: ใช่…มันก็หลักอันเดียวกันเท่านั้นแหละ รู้กาย…เวทนา…จิต…ธรรมนั้นให้เห็นว่า

มันไม่เที่ยงอย่างเดียวกันเท่านั้น มันก็เห็นไปรวมกัน มันเป็นมรรคสมังคีกันตรงนั้นเท่านั้น 

อันนี้ท่านแยกออกไปให้พิจารณาเฉยๆ หรอก เมื่อเราเห็นว่ามันรวมแล้ว 

ก็ไม่ต้องแยกซิ แยกก็เหมือนไม่แยก…ไม่แยกก็เหมือนแยก เพราะมันเป็นอย่างนั้น 

ท่านให้มีความเข้าใจอย่างเดียวตรงนั้นก็พอแล้ว


ปุจฉา: หลวงพ่อครับ เวลาเราภาวนาอยู่นะครับ คล้ายๆ กับว่าเรากำลังสนทนาพูดคุยกับตัวเราเองอยู่นี่…

อย่างนี้จะแก้อย่างไรครับ?

วิสัชนา: อย่าไปแก้มันเลยตรงนั้น…มันดีแล้ว มันเป็นโพชฌงค์*น่ะ “ธัมมวิจยะ”* 

มันก่อเกิดตัวปัญญาแล้วตรงนั้นน่ะ มันอยู่ในความสงบของมันแล้ว มันเป็นธัมมวิจยะ…

สอดส่องธรรมะ ไม่ต้องไปแก้มันเถอะ ดูไปตรงนั้นแหละ มันมีตรงนั้นแล้ว 

มันไม่ฟุ้งซ่านรำคาญหรอก มันอยู่ในที่สงบของมันแล้วจะต้องเป็นอย่างนี้ อันนี้…มันเป็นโพชฌงค์ 

เป็นองค์ธรรมที่จะตรัสรู้ธรรมะอยู่แล้ว ไปแก้มันทำไมตรงนี้


ปุจฉา: อยากจะให้มันสงบครับ

วิสัชนา: นั่นแหละ…มันอยู่ในความสงบนั่นเอง ถ้าเราไม่มีอย่างนี้ มันจะมีปัญญาสงบยิ่งขึ้นไปมั้ย…

หมายความว่า เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นมา มันทำความสงบให้ยิ่งขึ้นไป เมื่อความสงบยิ่งขึ้นไป 

มันทำปัญญาให้ยิ่งขึ้นมา มันเป็นไวพจน์ซึ่งกันและกันอยู่อย่างนี้ 

มันยังไม่จบเรื่องมัน อย่าไปห้ามมันซิ มันเป็นองค์ของโพชฌงค์ ๗ เป็นธัมมวิจยะ…สอดส่องธรรมะ


ปุจฉา: อย่างนี้…ไม่ฟุ้งซ่าน

วิสัชนา: ไม่ต้อง…ไม่ฟุ้งซ่าน ถ้าฟุ้งซ่านก็ไม่ใช่อันนี้ซิ ถ้ามันเป็นอย่างนี้มันไม่ฟุ้งซ่าน 

มันเรื่องที่จะให้เกิดปัญญาสุขุมขึ้นเรื่อยๆ เรื่องฟุ้งซ่าน…ไม่ใช่เรื่องของอย่างนี้ เรื่องฟุ้งซ่าน

มันก็ไม่ใช่เรื่องของธัมมวิจยะซิ มันไม่ใช่เป็นองค์ธรรมที่จะทำให้ตรัสรู้ธรรมซิ 

ไอ้ความเป็นจริงของคนเรา ไม่อยากจะให้มันรู้…อยากจะให้มันเฉยๆ อย่าให้มันเป็นอย่างนั้น 

คือ “รู้เฉย” เข้าใจไหม รู้เฉยเหมือนกับไม่รู้แหละ รู้เฉย ถ้าไม่รู้ไม่ได้ รู้แล้วมันไม่รำคาญ สักแต่ว่า 

ไอ้การสักแต่ว่ามันเกิด ไม่ต้องสงสัยอะไรมันที่ตรงนั้นมากมาย 

อันนั้นมันศึกษาเรื่องของจิต จำไว้นะ ไม่ต้องสงสัยละ มันจะเป็นไปตรงไหนก็รู้จักมันเถอะ 

มันสงบก็ดูเรื่องมันสงบเถอะ มันไม่สงบ…ก็ดูเรื่องมันไม่สงบเถอะ เมื่อมันไม่สงบน่ะ…วันนี้มันไม่สงบ 

พรุ่งนี้มันสงบ…ทำยังไงมัน ไอ้ความที่วุ่นวายมันไปไหนล่ะ

มันเป็นของไม่เที่ยง ถ้าหากว่ามันเห็นเป็นของไม่เที่ยงน่ะ มันเป็นยังไง มันก็เป็นสัจจธรรม 

เพราะเราเห็นว่ามันเที่ยง…เที่ยงเพราะมันจะเป็นของมันอยู่อย่างนี้ มันจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น

เพราะเรื่องนี้มันเป็นอย่างนี้ เรารู้เช่นนี้แล้ว เราก็วางมันไว้ จะไปสงสัยอะไรมัน


ปุจฉา: ทีนี้เวลามันไม่สงบ…เราก็ไม่พอใจ

วิสัชนา: เอาปัญญาซิใส่ลงไป…ถ้ามันไม่สงบ อันนั้นหมด…ธรรมถึงว่ามันไม่แน่ มันเป็นอย่างนี้ 

เรารู้จักมันด้วยปัญญาว่ามันไม่ฟุ้งซ่าน เราก็สงบในที่นั้น เพราะเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นเรื่องของมันนี่…

อย่าไปจับจนมันเป็นอุปาทาน อย่าไปทำอะไรมัน ให้รู้ตามเรื่องของมัน ให้มันสงบของมัน ไอ้ความเป็นจริง 

อาตมาเคยเปรียบเทียบให้ฟัง เราต้องการความสงบใช่มั้ย พระหรือโยมก็ช่างเถอะ ต้องการความสงบ 

ไปหาหลบอยู่ในที่มันสงบ เมื่อไรมันมากวนเรานี่ก็เห็นว่าเสียงมันมากวนเราอย่างเดียวเท่านั้นแหละ 

ถ้าเรากลับมาพิจารณาดูว่า เอ้…มันใช่มั้ย…มันแน่มั้ย…มันแน่อย่างนั้นหรือเปล่า ดูไปอีก

ให้มันลึกเข้าไปกว่านั้นอีก…มันเสียงมากวนเราหรือเราไปกวนเสียงนี่ ตามเข้าไปซิ…จะได้เห็นว่า

เรามันไปกวนเสียงเสียงมันก็เป็นเสียงอยู่ของเขาเขาไม่ได้มากวนเราเราไปยึดมันมานี่

มันก็เป็นว่าเราไปกวนเสียง เมื่อเราเห็น เราไปกวนเขา…ก็นึกว่าเขามากวนเรา ตรงกันข้ามง่ายๆ 

เห็นชัดๆ เราไปกวนเขา…เข้าใจว่าเขามากวนเรา แก้ตรงนี้ก็รู้จัก 

เออ…รู้แน่นอนแล้วนะ เราโง่มาหลายปีแล้วนึกว่าเขามากวนเราไอ้ความเป็นจริงเรามันไปกวนเขา 

อันนี้อาตมาจะบอกให้ว่า ไปนั่ง…มีแต่ความสงบ ไม่มีอะไรเลย นี่ก็อยู่ไม่ได้ แหม…

จะทำอะไรอีกต่อไปน้อ มันสงบไปหมดทั้งคลื่นนี่ จะต้องหาทางออกอีก 

มันเป็นเสียเช่นนี้แหละคนเรา นึกว่ามัน…แหม…มันอย่างไรต่อไป มันคงอยากนะ มันไม่ถึงที่นั่น 

แต่ว่าดูอะไรก็ดูไปเถอะสงบก็ดูไป ไม่สงบก็ดูมันไปเถอะให้ปัญญามันเกิด เรื่องมันสงบนี้…ก็เรื่องมันไม่แน่นอน 

เรื่องไม่สงบ…ก็เรื่องมันไม่แน่นอนทั้งนั้นแหละ สองอย่างนี้มันมีราคาเท่ากัน มันให้คุณเราอย่างไร 

มันก็ให้โทษเราอย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าเราไม่รู้จักมัน


ปุจฉา: ทีนี้ระหว่างที่จิตมันไม่สงบนะฮะ ลมหายใจมันจะหยาบ…

วิสัชนา: มันก็เป็นๆ มันสงบเรื่องสมาธิมันเป็นอย่างหนึ่งนะ เรื่องสงบด้วยปัญญานั้น…

มันเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ เรื่องสงบมันเป็นสองอย่างนะเรื่องสงบทางปัญญานี่ หูได้ยินอยู่…

ตาเห็นอยู่ แต่มันใจสงบมันสงบเพราะ…ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นมันเข้ามา…

นี่…อันนี้สงบ เรื่องสงบด้วยสมาธินี่มันผิดบ้าง เข้าใจมั้ยถ้าอะไรกระทบแก๊ก…ไม่ได้เสียแล้ว 

ผิวมันบางเกินไปต้องปรับใหม่…

พิจารณาใหม่ มันจะทันท่วงทีมั้ยยังงั้น เมื่อไรที่กิเลสมันเข้ามา จะต้องนั่งสมาธิทั้งนั้นเลยหรือ?


ปุจฉา: หมายความว่า…จิตเราต้องทำตามได้…อดทนได้

วิสัชนา: ใช่…มันรู้ๆ ไม่ได้อดทนด้วย…ไม่ได้ยกด้วย กระทบมาปล่อยมันเลย นี่…อย่างนี้ มันต้องเป็นอย่างนี้ 

ทางปัญญาของเรา มันจะเห็นสีเห็นแสงอะไรก็ช่างมันเถอะ มันเป็นธรรมดาอยู่ในโลกนี้ 

หนีไปไม่ได้หรอก ให้เรารู้เท่าทันมันสิ่งทั้งหลายเหล่านี้





























































































































Visitors: 49,764